สาเหตุของอาการแท้งลูก
การแท้งในช่วงสามเดือนแรกมักมีมาจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ ส่วนการแท้งในระยะท้ายๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ความผิดปกติของรกหรือมดลูก หรือปากมดลูกอ่อนแอ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การตรวจครรภ์ โดยการเจาะตรวจน้ำคร่ำและการเจาะตรวจรก ทั้งสองวิธีที่ใช้สำหรับตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ มีความเสี่ยงต่อการแท้งได้ หากคุณได้รับการแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้ แพทย์จะอธิบายความเสี่ยงต่างๆของการตรวจทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน
สัญญาณของการแท้งบุตร
หญิงมีครรภ์ที่แท้งบุตรในระยะแรกเริ่มอาจไม่ทันทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ เพราะจะมีอาการคล้ายกับการมีประจำเดือนที่มีเลือดออกในปริมาณมากร่วมกับอาการปวดท้อง บางครั้งอาจมีก้อนเลือดข้นๆ ปนออกมาด้วย แต่การแท้งบุตรในระยะท้าย บางรายพบจากการตรวจอัลตร้าซาวนด์
วิธีลดความเสี่ยงของการแท้ง
- เลิกสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่เสมอ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- ขอคำปรึกษาจากสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์เพื่อขอคำแนะนำและวิธีการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ หรือคุณแม่อาจศึกษาจากข้อมูลของเราได้ที่หัวข้อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์
โอกาสเสี่ยงต่อการแท้งจะเพิ่มสูงขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อไปนี้
- เบาหวาน
- โรคไต
- โรคของต่อมไทรอยด์
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- เนื้องอกในผนังมดลูก หรือความผิดปกติอื่นๆ ในมดลูก
- มีประวัติการแท้งบุตร
หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ
สร้างกำลังใจหลังจากการแท้ง...อย่างไร?
การสูญเสียลูกน้อยกะทันหันทำให้คุณแม่หัวใจสลาย การสร้างกำลังใจและให้เวลาช่วยเยียวยาเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่สามารถพูดคุยกับคุณแม่ท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์การแท้งบุตรมาก่อนซึ่งอาจให้แง่คิดดีๆใน ห้องสนทนาของคุณแม่ ซึ่งอาจช่วยคลายความทุกข์ใจลงได้บ้าง หรืออีกเว็บไซต์ Miscarriage Association ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่หญิงมีครรภ์ในการรับมือกับการแท้งบุตรมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ก็สามารถเป็นแหล่งข้อมูลและความช่วยเหลือที่ดีได้