การดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คุณแม่และคนใกล้ตัวจึงควรเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเอง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์เพื่อให้ร่างกายค่อยๆกลับคืนสู่สภาพปกติ พร้อมไปกับการปรับตัวเข้าสู่บทบาทความเป็นแม่อย่างเต็มตัว
1. การเคลื่อนไหวร่างกายหลังคลอด
คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน เข้าห้องน้ำเอง ฝึกดูแลลูกเอง เพราะการเคลื่อนไหวจะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ขยับตัวและทำให้แผลฝีเย็บสมานเร็วขึ้น
2. การดูแลแผลฝีเย็บ
คุณแม่อาจรู้สึกปวดแผลฝีเย็บซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ควรดูแลทำความสะอาดแผลฝีเย็บและคอยสังเกตน้ำคาวปลา
· การล้างแผลฝีเย็บ ควรล้างด้วยน้ำต้มสุกอุ่นๆ แล้วใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีซับให้แห้ง ห้ามใช้หัวฉีดล้างชำระหรือใช้ฝักบัวล้างโดยตรง เพราะแรงดันของน้ำอาจทำให้แผลเปิดได้ และยังอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่แผลได้อีกด้วย หลังจากนั้น 5-6 วัน แผลจะเริ่มติดกันและแห้งสนิท
· น้ำคาวปลา คือเนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูกจนกว่าแผลจะหาย คุณแม่ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ระยะเวลาในการมีน้ำคาวปลาจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปจะมีประมาณ 3 สัปดาห์
3. การรับประทานอาหาร
ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด และมีกากใยมาก เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงอาหารปรุงไม่สุก และอาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารรสจัดหรือมีกลิ่นฉุนรุนแรง เช่น เครื่องเทศต่างๆ อาจทำให้น้ำนมมีรสชาติหรือกลิ่นผิดไป
4. การพักผ่อนร่างกายหลังคลอด
คุณแม่หาโอกาสพักผ่อนในช่วงที่ลูกนอนหลับ โดยควรนอนหลับรวมแล้วอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
5. การบริหารร่างกายหลังคลอด
สามารถเริ่มบริหารร่างกายได้ตั้งแต่วันที่ 2 หลังการคลอดเป็นต้นไป เพื่อให้ผนังท้องที่หย่อนยานหลังคลอด และผนังช่องคลอดกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ควรฝึกขมิบบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความกระชับของบริเวณช่องคลอด เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพยุงช่องเชิงกราน ช่วยลดโอกาสของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน และลดโอกาสเกิดปัสสาวะเล็ดอีกด้วย
6. การดูแลผิวพรรณหลังคลอด
ใช้ครีมทาผิวหรือทาแก้ท้องลายนวดบริเวณหน้าท้องที่แตกลายได้วันละหลายๆ ครั้ง ส่วนรอยดำคล้ำตามบริเวณข้อพับต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์ จะค่อยๆ จางลงในช่วงหลังคลอด
7. การดูแลผมหลังคลอด
ในระยะหลังคลอด คุณแม่อาจผมร่วงมากกว่าปกติ ไม่ควรกังวล เพราะอาการผมร่วงนี้จะหายไปเองภายใน 6-12 เดือน คุณแม่อาจตัดผมสั้น ซึ่งเป็นทรงที่ดูแลง่าย ไม่ต้องหวีผมบ่อย จึงจะช่วยลดอาการผมร่วงได้ดีขึ้น
8. การมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดหลังคลอด
ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกระทั่งมาตรวจสุขภาพในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อเป็นการรักษาแผลที่ฝีเย็บ และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก และสามารถเริ่มคุมกำเนิดหลังจากไปตรวจร่างกายเมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอดเช่นกัน
9. การตรวจร่างกายหลังคลอด
คุณแม่ควรได้รับการตรวจร่างกายในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูการคืนสภาพของปากมดลูกและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ด้วยการตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำคาวปลาผิดปกติ แผลฝีเย็บผิดปกติ มีก้อนที่เต้านม มีไข้หนาวสั่น มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที